สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

TRADE COMPETITION COMMISSION OF THAILAND

มาตรา 50 การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม

 

นิยามตลาด

“ตลาด” หมายความว่า ตลาดที่เกี่ยวเนื่องในสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันหรือที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยให้พิจารณาด้านคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์การใช้งานของสินค้าหรือบริการ และด้านพื้นที่ในการจําหน่ายสินค้าหรือให้บริการ

นิยามผู้ประกอบธุรกิจ

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้จําหน่าย ผู้ผลิตเพื่อจําหน่าย ผู้สั่งหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อจําหน่าย ผู้ซื้อเพื่อผลิตหรือจําหน่ายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการในธุรกิจ

นิยามของผู้มีอำนาจเหนือตลาด

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดโดยแบ่งลักษณะการพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของสินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

กรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันกัน 75% และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

** แต่ถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกรณีนี้

การจะตรวจสอบว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ จำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าจะพิจารณาจากตลาดสินค้าหรือบริการอะไร และมีคู่แข่งใดอยู่ในตลาดสินค้าหรือบริการนั้นบ้าง โดยใช้หลักการทดแทนกันได้ในการกำหนดขอบเขตตลาด (Market Definition) ซึ่งจะพิจารณาจากตลาดเกี่ยวเนื่อง (Relevant Market) ได้แก่

1) ตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Relevant Product Market) คือ ตลาดสินค้าหรือบริการที่สามารถทดแทนกันได้ในมุมมองของผู้บริโภค เมื่อพิจารณาจากคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์ของการใช้งานของสินค้าหรือบริการ

2) ตลาดภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่อง (Relevant Geographic Market) คือ ตลาดที่ประกอบด้วยพื้นที่ที่ขายสินค้าหรือบริการซึ่งสามารถทดแทนกันได้ในมุมมองของผู้บริโภค โดยมีเงื่อนไขด้านการแข่งขันในลักษณะเดียวกัน

หลักเกณฑ์การพิจารณาขอบเขตตลาด จะพิจารณาเงื่อนไขที่จำกัดการแข่งขันของสินค้าหรือบริการ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) การทดแทนกันด้านอุปสงค์ (Demand Substitutability) โดยพิจารณาความเห็นหรือมุมมองของผู้บริโภคเรื่องขอบเขตการทดแทนกันได้ของสินค้า ตามหลักการดังต่อไปนี้

  • หลักการทดแทนกันได้ของตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง พิจารณาจากข้อมูล ได้แก่

  • ข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ที่แสดงเรื่องการทดแทนกันได้ เช่น เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าอื่นที่ทดแทนได้

  • การวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Tests) ในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand) คือ เปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการซื้อสินค้าชนิดหนึ่งเมื่อราคาสินค้าอีกชนิดหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป

  • ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาสินค้าแบบไขว้ (Cross Elasticity of Demand) เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการสินค้าชนิดหนึ่ง เมื่อราคาของสินค้าชนิดอื่น(สินค้าคนละชนิดกัน) ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป

  • การวิเคราะห์อนุกรมราคา (Price Series)

  • ระดับราคา (Price Levels) โดยวิเคราะห์จากดัชนีราคา (Price Index) ซึ่งเป็นเครื่องวัดราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการจำนวนหนึ่งของปีใดปีหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการในปีฐาน (Base year)

  • ทิศทางของราคา (Price Convergence) โดยวิเคราะห์แนวโน้มราคาในตลาดที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับดัชนีชี้วัด (Indicator)

  • การเก็บข้อมูลหรือการสัมภาษณ์คู่ค้า ผู้บริโภค และคู่แข่งขัน เกี่ยวกับความเห็นมุมมองด้านคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์การใช้งานของสินค้า โดยสุ่มตัวอย่างตามหลักการทางสถิติหรือทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับทางสากล

  • ข้อมูลหรือเอกสารของผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับความชอบและรสนิยมของผู้บริโภค (Consumer Preferences) เช่น ข้อมูลการวิเคราะห์ตลาด(Market Studies) แบบสอบถามผู้บริโภค ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น

  • กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบของรัฐที่เป็นข้อจํากัดเรื่องการทดแทนกันได้ของสินค้าในด้านคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์การใช้งาน

  • อุปสรรคหรือข้อจํากัดอื่น ๆ เรื่องการทดแทนกันได้ของสินค้าในด้านคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์การใช้งานของสินค้าหรือบริการ เช่น ข้อจํากัดจากตลาดสินค้าหรือบริการปลายน้ำ (Downstream Markets) ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับคุณภาพและชื่อเสียงของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย

  • กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน

  • หลักการทดแทนกันได้ของตลาดภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยพิจารณาข้อมูล ต่อไปนี้

  • ข้อมูลย้อนหลังในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีที่แสดงการเปลี่ยนแปลงการซื้อสินค้าของคู่ค้าหรือผู้บริโภคจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่ เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ

  • ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะด้านอุปสงค์ของสินค้า เช่น ความนิยมของผู้บริโภคต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ ภาษา วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค

  • การเก็บข้อมูลหรือการสัมภาษณ์คู่ค้า ผู้บริโภค และคู่แข่งขัน เกี่ยวกับความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า

  • รูปแบบการซื้อสินค้าของคู่ค้าหรือผู้บริโภคซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ (Geographic Pattern)

  • ทิศทางของการค้า (Trade Flow) ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือรูปแบบของการส่งมอบสินค้าหรือบริการ (Pattern of Shipments)

  • กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบของรัฐที่เป็นข้อจํากัดในการทดแทนกันได้ของสินค้าด้านพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้า

  • อุปสรรคหรือข้อจํากัดอื่น ๆ ในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าที่ทดแทนกันได้ ในด้านพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า เช่น ข้อจํากัดจากตลาดสินค้าหรือบริการปลายน้ำ(Downstream Markets) หรือสถานที่ตั้งของลูกค้า

  • หลักการทดแทนกันด้านอุปสงค์ตามหลักเศรษฐศาสตร์แทน โดยการทดสอบการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือบริการอื่น เมื่อสินค้าชนิดหนึ่งมีการขึ้นราคาเพียงเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (SSNIP Test : Small but Significant and Non-transitory Increase in Price) ใช้พิจารณาในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดขอบเขตตลาดโดยพิจารณาตามหลักการทดแทนกันได้ของตลาดสินค้าหรือบริการเกี่ยวเนื่อง และตลาดภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยทดสอบตามขั้นตอน ดังนี้

  • เริ่มการพิจารณาจากประเภทของสินค้าชนิดเดียวกัน และพื้นที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าชนิดเดียวกัน

  • ขยายขอบเขตประเภทของสินค้าและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ให้กว้างขึ้นและพิจารณาว่าหากเพิ่มราคาประมาณ 10% ของราคาปัจจุบัน ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการอย่างมีนัยสำคัญ ในขอบเขตที่ขยายให้กว้างขึ้นหรือไม่

  • ดำเนินการขยายขอบเขตของสินค้าหรือบริการทั้งในด้านประเภทของสินค้า และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่อไปจนกว่าจะพบว่าผู้บริโภคจะไม่เปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการในการขยายขอบเขตนั้น

2) การทดแทนกันด้านอุปทาน (Supply Substitutability) โดยพิจารณาความสามารถของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ในการเปลี่ยนไปผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยไม่มีภาระต้นทุนหรือความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงของราคา

3) การแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Potential Competition) โดยพิจารณาจากปัจจัยและสถานการณ์เฉพาะในแต่ละกรณีที่อาจส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดหรือระดับการแข่งขันในตลาด

หมายเหตุ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกำหนดขอบเขตตลาดในกรณีใดมีความยุ่งยากซับซ้อน คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อกำหนดขอบเขตตลาด  โดยคณะอนุกรรมการนั้นต้องประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวน 5-8 คน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน สามสิบวัน และสามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน สามสิบวัน

พิจารณาจากร้อยละของปริมาณการขาย ยอดเงินขาย ปริมาณการผลิต หรือกำลังการผลิตของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย ทั้งนี้ให้นับรวมส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ

“ความสัมพันธ์กันทางนโยบาย” หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป มีแนวทาง นโยบาย วิธีการบริหารงานหรือการประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของผุ้ประกอบธุรกิจรายเดียวกัน

“อำนาจสั่งการ” คือ อำนาจควบคุม ซึ่งมีสาเหตุ ดังต่อไปนี้

1) ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงเกิน 50% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจ

2) มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

3) มีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการในผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่กึ่งหนึ่งขอกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

4) มีอำนาจสั่งการตามข้อ 1 และ 2 เป็นทอด ๆ

การเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการจะถือว่ามสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน

การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้มีความผิด แต่หากใช้อำนาจเหนือตลาดในการกระทำพฤติกรรมใด ๆ ต่อไปนี้จะถือว่าทำผิดกฎหมาย

1. กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

  • ตั้งราคาจำกัดคู่แข่ง (Predatory Pricing) โดยตั้งราคาสินค้าและบริการต่ำกว่าต้นทุนแปรผันเฉลี่ย (Average Variable Cost: AVC) เพื่อให้คู่แข่งต้องออกจากตลาด ทั้งนี้ จะต้องแจ้งเหตุผลที่สมควรว่าทำไมตั้งราคาในลักษณะดังกล่าว เช่น ลดราคาสินค้าชนิดหนึ่งเพื่อเพิ่มโอกาสการขายให้สินค้าตัวอื่น (Loss Leading) ตั้งราคาเพื่อส่งเสริมการขายในระยะสั้น (Short-run Promotions) หรือลดราคาเพื่อให้อยู่รอดในตลาดได้ เนื่องจากความต้องการในสินค้านั้นลดลงมาก

  • ตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าทุน (Price Below Cost) โดยตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุนรวมเฉลี่ย (Average Total Cost: ATC) ซึ่งจะต้อง พิจารณาข้อเท็จเกี่ยวกับเหตุผลที่สมควรว่าทำไมตั้งราคาในลักษณะดังกล่าว

  • กำหนดราคาซื้อหรือขายหรือให้บริการให้คู่ค้าโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Price Discrimination) ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

  • กำหนดราคาให้คู่ค้าแต่ละรายต่างกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

  • กำหนดราคาให้คู่ค้าแต่ละรายเหมือนกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งที่มีต้นทุน ปริมาณ คุณภาพหรือคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการแตกต่างกัน

  • กำหนดราคาสินค้าวัตถุดิบให้คู่ค้าซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดสินค้าหรือบริการต้นน้ำหรือปลายน้ำในราคาที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม (Margin Squeeze) โดยมีลักษณะ ดังนี้

  • ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดเป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายเพื่อผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจต้นน้ำหรือปลายน้ำ

  • กำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการที่สูงมาก ให้แก่คู่ค้าซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดสินค้าหรือบริการต้นน้ำหรือปลายน้ำ จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่มีกำไรเพียงพอจะทำธุรกิจต่อได้

  • กำหนดหรือรักษาระดับราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม (Excessive Pricing) อันทำให้ได้กำไรสูงกว่าปกติหรือสูงกว่าที่เคยได้รับ โดยพิจารณาเปรียบเทียบจากการกำหนดราคาและอัตรากำไรของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

  • กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรมในลักษณะอื่น ๆ

2. กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้คู่ค้าของตนต้องจำกัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการขายสินค้า หรือจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น ต้องมีลักษณะ ดังนี้

  • กำหนดเงื่อนไขให้คู่ค้า เช่น

  • ให้ส่วนลดในกรณีต่าง ๆ (Discount Scheme) เช่น จะให้ส่วนลดเมื่อคู่ค้าซื้อสินค้าในปริมาณที่มากหรือทั้งหมด (Fidelity Discounts) ซึ่งมากเกินความจำเป็นของคู่ค้า หรือลูกค้าต้องซื้อสินค้าอื่นพ่วงด้วย (Tied Product) จึงจะได้ส่วนลด

  • คู่ค้าต้องซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการจากตนเท่านั้น (Exclusive Dealing)

  • คู่ค้าต้องซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการในปริมาณที่กำหนด (Quantity Forcing)

  • คู่ค้าต้องซื้อสินค้าหรือบริการพ่วง (Tied Product) ไปกับสินค้าหรือบริการที่ต้องการซื้อ (Tying Product)

  • คู่ค้าต้องขายสินค้าในราคาหรือช่วงราคาที่กำหนด (Resale Price Maintenance)

  • ปฏิเสธจะขายสินค้าหรือบริการให้คู่ค้า (Refusal to Supply)

  • เงื่อนไขต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • จำกัดการบริการ การผลิต การซื้อหรือการขายสินค้าของคู่ค้า

  • จำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการของคู่ค้า

  • จำกัดโอกาสของคู่ค้าในการหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น

  • เป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม

3. ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การขาย การส่งมอบ การนำเข้า โดยไม่มีเหตุผลสมควร รวมถึงการทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหายเพื่อลดปริมาณสินค้าให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด มีลักษณะดังนี้

  • การกระทำมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การขาย การส่งมอบ การนำเข้า โดยไม่มีเหตุผลสมควร

  • ทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหาย

  • มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณสินค้าหรือบริการให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

4. แทรกแซงธุรกิจผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • แทรกแซงการประกอบธุรกิจผู้อื่น

  • แทรกแซงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

หมายเหตุ การกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • 1. การกระทำนั้นไม่ใช่การดำเนินธุรกิจตามปกติ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

  • 2. เงื่อนไขไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่ได้แจ้งคู่ค้าทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมตามแนวทางการค้าปกติ ของคู่กรณี

  • 3. การกระทำนั้นไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ การตลาดหรือเศรษฐศาสตร์

  • 4. ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

หากฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 50 ผู้มีอำนาจเหนือตลาดจะได้รับบทลงโทษทางอาญา โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ในกรณีที่กระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้มีอำนาจเหนือตลาดสามารถยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อให้วินิจฉัยล่วงหน้า ว่าการกระทำของตนเข้าข่ายฝ่าฝืนการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยมีค่าธรรมเนียมครั้งละ 50,000 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตาม และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีสิทธิเพิกถอนคำวินิจฉัยในภายหลังได้หากพบว่า ข้อมูลที่ได้รับมาไม่ถูกต้องหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนเงื่อนไขของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)