ความเป็นมากฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย

 
  • กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นกฎหมายเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าในประเทศอย่างมาก ทั้งในด้านของการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาด รวมทั้งผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน สามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลาย มีคุณภาพ และราคาถูกลง เป็นต้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มข้น ถึงกับมีการเทียบเคียงสถานะเปรียบเทียบดังเช่นธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ต้องปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียมกัน แต่ระบบตลาดสินค้าและบริการที่เป็นอยู่ในประเทศไทย โครงสร้างตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) และตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่มีความได้เปรียบและใช้อำนาจตลาดที่มีอยู่กลั่นแกล้ง หรือจำกัดโอกาสในการดำเนินธุรกิจของคู่แข่งขันที่มีขนาดเล็กกว่าได้ง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะที่มุ่งปกป้องตลาดให้มีการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการผูกขาดและมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายที่เรียกกันว่า “กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” หรือบางประเทศใช้คำว่า “กฎหมายป้องกันการผูกขาด”

    กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในแต่ละประเทศมีความเป็นมาที่แตกต่างกัน หลายประเทศมีกฎหมายฉบับนี้เพราะถูกบังคับให้มีตัวอย่างในทวีปเอเซีย เช่น ญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้บังคับให้ญี่ปุ่นต้องมีกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Anti-Monopoly Act) โดยมุ่งหวังให้เปิดตลาดโดยปราศจากการครอบงำของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่ากลุ่ม Zaibatsu อินโดนีเซีย มีกฎหมายเพราะถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บังคับสิงคโปร์และเวียดนาม มีกฎหมายสืบเนื่องจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยอาจจะกล่าวด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจว่ามีกฎหมายฉบับนี้เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ริเริ่มไม่ใช่การบังคับจากองค์กรหรือประเทศใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

  • กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยพัฒนาจากพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นลำดับ ในอดีตการดูแลราคาสินค้า จะดูแลราคาที่ปลายทางคือราคาขายปลีก และขยับมาดูแลราคาขายส่ง ต่อมาระบบการค้าเปลี่ยนแปลง โครงสร้างตลาดมีทั้งตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) และตลาดผูกขาด (Monopoly) ผู้ค้าปลีกจะจำหน่ายสินค้าโดยพิจารณาตามราคาที่ต้นทางกำหนด ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาแพงโดยตลอด การแก้ปัญหาราคาสินค้าจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้มีการพัฒนา พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาเป็นพระราชบัญญัติการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการสร้างอำนาจผูกขาด เช่น การจำกัดปริมาณสินค้า จนทำให้สินค้าขาดแคลน แล้วกำหนดราคาให้สูงขึ้น

  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีกระแสที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าออกมาหลายเรื่อง เช่น ผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่บางราย กีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อที่ตนเองจำหน่าย จึงเกิดปัญหาว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจผูกขาด ทำให้มีการเสวนาถกเถียงถึงเรื่องการแข่งขันเสรีมากขึ้น

    กรมการค้าภายในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดยรับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากหลายมหาวิทยาลัยร่วมเป็นคณะทำงานร่างกฎหมายด้วย ซึ่งใช้เวลามากพอสมควร และร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหลายครั้งจนผ่านความเห็นชอบ และถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ได้มีการยุบสภาฯ ก่อน ทำให้ยังไม่ผ่านการพิจารณา และในปี 2540 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกแต่สภาฯ ก็ถูกยุบอีกครั้ง

  • ในที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มาเริ่มกระบวนการใหม่ในปี 2541 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีโดยผ่านมติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาจนผ่านออกมาเป็น “พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542” และประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542

    ตลอดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ มีคดีการแข่งขันทางการค้าเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทั้งหมด 96 เรื่อง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาแล้วเสร็จ 84 เรื่อง โดยคณะกรรมการฯ มีมติสั่งยุติ 81 เรื่อง และส่งพนักงานอัยการดำเนินคดี 3 เรื่อง แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เท่ากับว่าไม่เคยมีคดีการแข่งขันทางการค้าขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมแม้แต่คดีเดียว ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้นั้น เป็นเพราะการกระทำความผิดไม่ครบองค์ประกอบของกฎหมาย ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาประกอบการเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้อย่างเพียงพอ โดยสามารถสรุปปัญหาของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ได้ดังนี้

    1) ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การสืบสวนสอบสวนมีขั้นตอนล่าช้า กฎหมายไม่ครอบคลุมการทำผิดนอกราชอาณาจักร บทลงโทษไม่สอดคล้องกับความร้ายแรงของพฤติกรรม (การกำหนดโทษจำคุกในความผิดที่ไม่ร้ายแรงทำให้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องต่อสู้คดีจนถึงที่สุด) การพิจารณาคดีมิได้ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

    2) กฎหมายมีความครอบคลุมไม่เพียงพอ โดยไม่ครอบคลุมรูปแบบพฤติกรรมและโครงสร้างการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สอดคล้องกับสากล การยกเว้นการบังคับใช้แก่รัฐวิสาหกิจสร้างความไม่เสมอภาคกับเอกชน

    3) การไม่มีความอิสระและถูกแทรกแซงในการบังคับใช้กฎหมาย ในอดีตการบังคับใช้กฎหมายจะถูกแทรกแซง และมีข้อจำกัดในการบริหารงาน-บุคคล-งบประมาณ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  • ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีนโยบายให้ปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และรัฐบาลภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มุ่งสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงได้พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ขึ้น เนื่องจากบทบัญญัติหลักในบางบริบทเป็นการตราขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจการค้าในขณะนั้น ซึ่งในหลายประเทศในอดีตก็มีการตราบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมายของไทยอยู่ที่โครงสร้างของคณะกรรมการและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจหลักของการบังคับใช้ที่ถูกกำหนดให้นำแนวทางกำกับดูแลภายใต้โครงสร้างและแนวทางการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายอาญามาใช้ ซึ่งมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ยาวนานและภาระพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้โดยเร็ว และไม่สามารถระงับหรือบรรเทาผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่จำกัดการแข่งขันทางการค้าของผู้กระทำผิดได้ทันท่วงที ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าที่บิดเบือนล้มเหลวในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยการยกร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. …. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. … เป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญเร่งด่วน โดยให้อยู่ในบัญชีเร่งด่วน 1 เพื่อเร่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันส่งผลต่อการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน คำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งสอดรับกับนโยบายการเป็นชาติการค้า (Trading Nation) และการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบโมลเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 กรฎาคม 2560 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

ติดต่อเรา

  • map
  • อาคารจอดรถ 5 ชั้น (BC) ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
    เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

สมัครรับข้อมูลข่าวสาร

  • สงวนลิขสิทธิ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
     Visits: 867116