สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

TRADE COMPETITION COMMISSION OF THAILAND

นโยบายการกำกับดูแลการแข่งขัน ทางการค้าของไทย

 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดแรกที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายและนโยบายในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบกติกา การกำกับ ดูแลการทำธุรกิจค้าของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตด้วยกันเองและผู้บริโภค ทั้งในฐานะ

ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนของประเทศ ที่สำคัญคือต้องการเห็นการขับเคลื่อน การเติบโตของการทำธุรกิจที่เปิดโอกาสกับทุก ๆ ภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน โดยพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสามารถออกหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีเป็นธรรม ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปเช่นเดียวกับกฎหมาย และหากมีการฝ่าฝืนแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดนี้ยังมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน ทั้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องที่คิดว่ามีพฤติกรรม

ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสามารถปรับปรุงโครงสร้างและกฎระเบียบภายในให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยไม่ยุ่งยาก จึงถือได้ว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้วางกรอบกติกาการค้าของประเทศ ซึ่งนโยบายในการขับเคลื่อนของคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วยนโยบายหลัก 4 ด้าน ดังนี้

  1. ขับเคลื่อน ปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ และบริหารจัดการให้การแข่งขันทางการค้าของไทยมีมาตรฐานแบบสากล สร้างสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจในประเทศให้มีความเสรีและเป็นธรรม

  2. ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของประเทศใน ASEAN โดยการบังคับใช้กฎหมายต้องรวดเร็ว ระงับยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที (ป้องปราม ปราบปรามฉับไว – เน้นการป้องปรามมากกว่าการปราบปราม) ในส่วนของสำนักงานฯ ต้องสร้างองค์กรใหม่นี้ให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่น สร้างความเป็นเลิศ ทำงานด้วยความทันสมัย รู้ทันกลยุทธ์การค้าและการทำธุรกิจใหม่ ๆ และที่สำคัญคือต้องเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นกลาง เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

  3. การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการแข่งขันทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 แก่ผู้ประกอบธุรกิจและทุกภาคส่วนให้รับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการแข่งขันเสรี เป็นธรรม และส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายด้านการแข่งขันทางการค้าด้วย

  4. ไม่ปิดกั้นการเติบโตการประกอบธุรกิจ แต่การขยายตัวการทำธุรกิจต้องมีความเสรีอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเองและผู้บริโภค

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะเป็นหน่วยงานที่คอยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้ประสบผลสำเร็จ โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เป็นสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี 6 ด้าน ดังนี้

(1) กำกับดูแลโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการการแข่งขันให้เสรีและเป็นธรรม

(2) เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศสู่สากล

(3) ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล

(4) เผยแพร่และส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

(5) เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพความคล่องตัวเพื่อสร้างธรรมาภิบาลขององค์กร

(6) พัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ

ท้ายที่สุดแล้วการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการและสำนักงานจะส่งผลทำให้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือ เศรษฐกิจไทยภาพรวมในระดับมหภาคเติบโตได้เต็มศักยภาพและมั่นคง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจ และนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาแนวรับ และปรับแนวรุกในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมได้ต่อไป